วันพุธที่ 4 พฤษภาคม พ.ศ. 2559

ไฟแนนซ์ ห้ามเบี้ยว ห้ามทำหาย ห้ามขายต่อ



เศรษฐกิจฝืดเคืองเยี่ยงนี้ ใครที่ผ่อนรถยนต์คันแรกอยู่แล้วเริ่มช็อต หมุนเงินไม่ทัน อยากให้อ่านเลย...  

1.    ถ้าคุณทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์ หรือมอเตอร์ไซค์ แล้วอยู่ในระหว่างผ่อนค่างวดอยู่ โปรดรู้ว่าคุณยังไม่ใช่เจ้าของรถคันนั้นอย่างแท้จริง เพราะตามกฎหมายคุณเป็นแค่ “ผู้เช่าซื้อ” ซึ่งมีสิทธิครอบครองและใช้สอยรถเท่านั้น ตราบใดที่คุณผ่อนหมดนั่นล่ะคุณถึงจะได้รับโอนกรรมสิทธิ์

2.    การผิดนัดชำระหนี้ค่าเช่าซื้ออาจเกิดขึ้นได้ในภาวะเศรษฐกิจตกสะเก็ด คุณอาจจะค้างค่างวด หรือจ่ายค่างวดช้าไปบ้างก็ไม่เป็นไร แต่จำไว้ว่า “ห้ามเบี้ยว ผิดนัดจ่ายค่าเช่าซื้อ 3 งวดติดต่อกัน” เพราะไฟแนนซ์อาจใช้สิทธิบอกเลิกสัญญา แล้วมายึดรถคืนไปได้ ถ้าหากไฟแนนซ์ไหน เขียนสัญญาเช่าซื้อต่างไปจากนี้ ก็ไม่มีผลในทางกฎหมาย เพราะ สคบ.เขามีประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญา เรื่อง ให้ธุรกิจให้เช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์เป็นธุรกิจควบคุมสัญญา พ.ศ. 2555 คุ้มครองผู้เช่าซื้ออยู่

3.    ในฐานะผู้เช่าซื้อ ผู้ครอบครองรถ คุณต้องใช้สอย ดูแลรักษารถยนต์ที่เช่าซื้อมาให้ดี “ห้ามทำหาย” แต่ถ้าเกิดโชคร้ายจริง ๆ รถที่เช่าซื้อมาถูกขโมยไป คำถามที่พบบ่อยก็คือ แล้วจะต้องจ่ายค่างวดที่เหลือต่อจนครบสัญญาไหม ข้อนี้ในทางกฎหมาย(ประกาศ สคบ. ฉบับข้างต้น) บอกเลยว่า ถ้ารถที่เช่าซื้อมาหายไป ก็ถือว่าสัญญาเช่าซื้อเป็นอันสิ้นสุด คุณไม่ต้องผ่อนกุญแจรถต่อ แต่ทั้งนี้คุณต้องพิสูจน์นะว่าได้ดูแล ล็อครถอย่างดีแล้ว ส่วนใครที่ประมาทชอบจอดรถในที่เปลี่ยว ไม่ระวังรักษาก็อย่าเพิ่งสบายใจไป คุณยังต้องรับผิดชอบต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นกับไฟแนนซ์อยู่ดี

4.    สำหรับคนที่ผ่อนต่อไม่ไหวแล้วคิดจะเอารถไปขายต่อคนอื่น ขอให้ทบทวนให้ดี เพราะคุณในฐานะคนเช่าซื้อไม่ใช่เจ้าของกรรมสิทธิ์ จึงไม่มีสิทธิเอารถไปขายคนอื่นได้ ถ้าเจ้าหนี้เขารู้ขึ้นมา คุณอาจโดนคดีอาญาข้อหายักยอกทรัพย์ได้ ดังนั้น “ห้ามขาย” รถติดไฟแนนซ์
     แต่ถ้าเป็น “การขายดาวน์” หรือ “ขายสิทธิการเช่าซื้อ” หาคนมาผ่อนรถต่อจากคุณแบบนี้ ทำได้นะครับ แต่ต้องแจ้งไฟแนนซ์ให้รับรู้และทำสัญญาใหม่แก้ไขเปลี่ยนตัวผู้เช่าซื้อให้ถูกต้อง 

วันอังคารที่ 5 เมษายน พ.ศ. 2559

หนังสือ รู้สู้หนี้ วางแผงแล้ว ในรูปแบบ E - Book

คู่มือเพื่อการปลดหนี้ บัตรเครดิต สินเชื่อบุคคล หนี้ผ่อนบ้าน หนี้ผ่อนรถ 

        จากการประเมินของธนาคารแห่งประเทศไทยเมื่อปีที่แล้วพบว่า หนี้ครัวเรือนขณะนี้มีประมาณ 83.5% ของ GDP ประมาณ 15 ล้านล้านบาท ซึ่งถือเป็นอัตราที่สูงมาก สอดคล้องกับการสำรวจของศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย พบว่าประชาชนมีหนี้ครัวเรือนเพิ่มสูงขึ้นมาอยู่ที่ 220,000 บาทต่อครัวเรือน จากปีก่อนที่มีหนี้ 190,000 บาทต่อครัวเรือน
            ปัญหาหนี้สินเป็นปัญหาสำคัญของผู้บริโภคทั่วโลกไม่เฉพาะแต่เมืองไทย และมักจะมีเส้นทางของปัญหาที่คล้ายกัน ตั้งแต่การเข้าไม่ถึงแหล่งเงินทุนในระบบที่เป็นธรรม ถูกคิดดอกเบี้ยสูงกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนดให้เก็บได้ ถูกทวงหนี้  ด้วยวิธีการที่ละเมิดสิทธิมนุษยชน ข่มขู่ ทำร้ายร่างกาย  ลูกหนี้ ขาดความรู้ในการจัดการปัญหาหนี้สิน เลือกกู้หนี้ใหม่มาใช้หนี้เก่า เหมือนลิงแก้แห ยิ่งแก้ยิ่งยุ่ง ลุกลามกลายเป็นปัญหาครอบครัว ชีวิตตกต่ำด่ำดิ่งลงไปจนหาทางออกไม่เจอ ลูกหนี้จำนวนไม่น้อยตัดสินใจจบชีวิตตนเองและคนในครอบครัว ดังที่ปรากฏเป็นข่าวให้เห็นกันอยู่บ่อย
            เมื่อได้รับการติดต่อขอให้เขียนคำนำ หนังสือ “รู้สู้หนี้” เล่มนี้ รีบตอบรับด้วยความยินดี ด้วยเหตุผลสองสามประการ หนึ่งเรื่องหนี้นี้เป็นเรื่องสำคัญของผู้บริโภคที่ต้องช่วยกันทำงานจากทุกภาคส่วน ผู้เขียนมีประสบการณ์เป็นนักกฎหมาย เคยเป็นเจ้าหน้าที่ของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ให้คำปรึกษา แก้ไขปัญหาและยืนเคียงข้างผู้บริโภคมาไม่น้อยกว่าสิบปี เชี่ยวชาญเรื่องให้คำแนะนำเพื่อแก้ไขปัญหาหนี้สิน
            หนังสือเล่มนี้ มีหลายเรื่องที่สำคัญสำหรับชีวิตลูกหนี้ อาทิ แบบทดสอบ ปัญหาหนี้สินของคุณร้ายแรงระดับไหน , เรื่องต้องห้ามสำหรับลูกหนี้ , วิธีจัดระเบียบหนี้ , กฎหมายใหม่ เพื่อรับมือพวกทวงหนี้โหด , อายุความของคดีหนี้แบบต่าง ๆ , เทคนิควิธีตัดต้นลดดอกและการปลดหนี้ที่ศาลยุติธรรม ฯลฯ
            “รู้สู้หนี้” จึงเป็นคู่มือเพื่อการแก้ไขปัญหาหนี้สิน ที่ทุกคนควรอ่าน แต่ลูกหนี้ทุกคนต้องอ่าน เพราะจะช่วยให้ลูกหนี้ สามารถกลับมาใช้ชีวิตเฉกเช่นคนทั่วไปไม่ต้องหลบซ่อน กล้าสู้กับปัญหาหนี้สินโดยใช้กฎหมาย และจ่ายคืนหนี้ได้อย่างชาญฉลาด  สมกับเป็นลูกหนี้ที่มีเครดิตและมีความหวังในการใช้ชีวิต
 คำนิยม โดย
สารี อ๋องสมหวัง
เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค

หนังสือ รู้สู้หนี้ มีจำหน่ายแล้วในรูปแบบ E Book ที่ อุ๊คบี  http://www.ookbee.com/Shop/Book/1253824e-a502-4120-a16f-5975befa9fb7

ทดลองอ่าน ฉบับตัวอย่างได้ที่


วันอังคารที่ 3 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558

เตรียมแก้กฎ ปล่อยกู้ "ดอกเบี้ยโหด" เพิ่มโทษจำคุกหัวโต


รัฐบาล ลุงตู่ ไฟเขียว อนุมัติร่างหลักการ "พ.ร.บ. ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา ฉบับใหม่"

หลังจากที่ประเทศไทยมีและใช้กฎหมาย "ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ. 2475" มาตั้งแต่สมัยคณะราษฎรเปลี่ยนแปลงการปกครอง เมื่อ 83 ปีก่อน 

สาระสำคัญของกฎหมาย คือ ห้ามเจ้าหนี้ คิดดอกเบี้ยเกินกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนด ถ้าฝ่าฝืน มีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 1,000 บาท หรือ ทั้งจำทั้งปรับ 

ส่วนอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่กฎหมายอนุญาตให้เจ้าหนี้เรียกเก็บได้นั้น ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 654 กำหนด ให้คิดดอกเบี้ยได้ไม่เกินกว่าร้อยละ 15 ต่อปี 

เจ้าหนี้ที่ฝ่าฝืนนอกจากมีโทษทางอาญาแล้ว ยังหมดสิทธิที่จะได้ดอกเบี้ยจากลูกหนี้อีกต่างหาก เพราะกฎหมายถือว่าดอกเบี้ยที่เกินอัตราถือเป็นโมฆะ 

ล่าสุด 3 พ.ย. รัฐบาล "พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา" มีมติ ครม. เห็นชอบหลักการ "พ.ร.บ. ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา ฉบับใหม่" ที่กระทรวงยุติธรรมเสนอ เพื่อปรับปรุงกฎหมายให้ทันยุคทันสมัย โดยจะมีการเพิ่มโทษของผู้ที่ฝ่าฝืนกฎหมาย จากโทษจำคุก 1 ปี หรือ ปรับไม่เกิน 1,000 บาท หรือ ทั้งจำทั้งปรับ 
เพิ่มเป็น 

ลงโทษจำคุกผู้กระทำผิดไม่เกิน 3 ปี ปรับไม่เกิน 300,000 บาท ส่วนการกระทำผิดในลักษณะเป็นกลุ่มกระบวนการ นายทุนเงินกู้นอกระบบ มีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับไม่เกิน 500,000 บาท และหากผู้กระทำผิดเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐต้องเพิ่มโทษเป็น 2 เท่า 
หลังจาก ครม.เห็นชอบหลักการกฎหมายนี้แล้ว ก็จะเข้าสู่การพิจารณาของ สภานิติบัญญัติ ต่อไป

สำหรับอัตราดอกเบี้ย ที่เจ้าหนี้นอกระบบเรียกเก็บอยู่ในปัจจุบันนั้น ถ้าคิดดอกเบี้ยร้อยละ 20 ต่อเดือน ก็เท่ากับว่า ลูกหนี้ต้องจ่ายดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 240 ต่อปี ซึ่งผิดกฎหมาย
ส่วนเจ้าหนี้  ธนาคารพาณิชย์ คิดดอกเบี้ย    ได้ไม่เกินร้อยละ   19   ต่อปี 
                เจ้าหนี้บัตรเครดิต คิดดอกเบี้ย   ได้ไม่เกินร้อยละ   20  ต่อปี และห้ามคิดค่าธรรมเนียมเบิกถอนเงินสดเกินร้อยละ 3 ของจำนวนเงินที่เบิกถอน
                เจ้าหนี้สินเชื่อส่วนบุคคล คิดดอกเบี้ย ได้ไม่เกินร้อยละ 15 ต่อปี แต่ยังมีสิทธิคิดค่าธรรมเนียมและค่าบริการต่าง ๆ ได้อีกแต่รวมแล้วต้องไม่เกินร้อยละ 13 ต่อปี
                 ส่วนอัตราดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์ ปัจจุบันอยู่ที่ ร้อยละ 0.5 ต่อปี

นับว่าดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์กับดอกเบี้ยเงินกู้ ต่างกันราวฟ้ากับเหวเลยทีเดียว 


วันจันทร์ที่ 22 มิถุนายน พ.ศ. 2558

Oh my God !!! ใช้บัตรเครดิตผ่อน 0% แล้วทำไมถูกคิดดอกเบี้ย

              เศรษฐกิจยามนี้ ฝืดเคืองเหลือเกิน เมื่อคนไม่ซื้อของ ห้างร้านต่าง ๆ ก็ต้องัดกลวิธีทุกวิถีทางเพื่อเรียกลูกค้า หนึ่งในกลยุทธ์ที่เห็นบ่อย ๆ ก็คือ “ผ่อนดอกเบี้ย 0%” ซึ่งเดี๋ยวนี้ เราสามารถใช้บัตรเครดิตผ่อน 0% ได้เกือบ ทุกสรรพสิ่ง ตั้งแต่ โทรศัพท์ , TV , ตู้เย็น , ยางรถยนต์ ไปจนกระทั่งทัวร์ยุโรป เกาหลี ญี่ปุ่น ก็ยังมีโปรผ่อน 0%

 “Oh Wow อะไรมันจะดีอย่างนี้ ผ่อน 0% ตั้ง 10 เดือน จ่ายน้อย ผ่อนนาน ไม่ต้องเสียดอกเบี้ย โอกาสแบบนี้รีบคว้าเลย” หลายคนตาเป็นประกาย เตรียมหยิบบัตรเครดิตออกมารูดแล้วใช่ไหม แต่ช้าก่อน ลองทบทวนดูอีกทีว่า “โปรผ่อน 0%” นี้จะเป็น โอกาสทอง หรือ กับดัก

ตัวอย่าง เช่น Smartphone รุ่นใหม่ ตัว Top ราคา 24,000 บาท มีโปรโมชั่นให้ผ่อนได้นาน 12 เดือนดอกเบี้ย 0% เมื่อจ่ายผ่านบัตรเครดิต แว๊บแรกในความคิดแรกของคนทั่วไปเมื่อเห็นโปรโมชั่น 0% แบบนี้คือ โทรศัพท์ราคา 24,000 บาท ผ่อน 12 เดือน ไม่เสียดอกเบี้ย ก็แบ่งจ่ายแค่เดือนละ 2,000 บาท แต่สิ่งที่เรามักมองข้ามไปคือ เราไม่ได้ใช้บัตรเครดิตแค่รายการเดียวน่ะสิ แต่ละเดือนเราอาจจะใช้บัตรเครดิตรูดซื้อเสื้อผ้า จ่ายค่าน้ำมันรถยนต์ ค่าอาหารร้านอร่อย ค่าไฟฟ้า ประปา โทรศัพท์ ฯลฯ รวมกันหลายรายการ สมมุติว่า ผ่อน Smartphone 2,000 บาท + กินใช้อื่น ๆ 5,000 บาท ยอดที่เรียกเก็บมาในเดือนนั้นจะเท่ากับ 7,000 บาท และโดยปกติบัตรเครดิต จะกำหนดยอดขั้นต่ำเท่ากับ ยอดผ่อนสินค้าบวกกับ 10% ของยอดที่ใช้บัตร จากตัวอย่างก็จะเท่ากับ 2,500 บาท (2,000 + 10% ของ 5,000)
1.      ถ้าคุณชำระเต็มตามยอดที่เรียกเก็บมาทั้งหมด แบบนี้คุณก็จะไม่ต้องเสียดอกเบี้ยใด ๆ ทั้งสิ้น

2.      ถ้าคุณชำระเต็มตามจำนวนที่เรียกเก็บไม่ได้ ก็ขอให้จ่ายเกินกว่าหรือเท่ากับยอดขั้นต่ำที่เรียกเก็บมา 2,500 บาท เพราะกรณีนี้ แม้คุณจะยังต้องเสียดอกเบี้ยในส่วนที่คุณรูดบัตรเครดิตเป็นค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ซึ่งยังชำระไม่ครบ แต่ในส่วนยอดผ่อน Smartphone 0% ก็ไม่ต้องเสียดอกเบี้ย

3.      แต่ถ้าคุณผิดนัดไม่จ่ายหนี้ หรือชำระได้น้อยกว่ายอดขั้นต่ำ เช่น 2,000 บาท แม้จะเท่ากับยอดผ่อน 0% ที่เรียกเก็บมา แต่กรณีนี้คุณจะถูกคิดดอกเบี้ยทั้งในส่วนที่ผ่อน Smartphone แม้จะมีโปรโมชั่น 0% และเสียดอกเบี้ยในส่วนที่ใช้บัตรเครดิตรูดจ่ายค่ากินใช้อื่น ๆ ด้วย


สรุป มีเพียงกรณีเดียวที่คุณจะได้รับประโยชน์จากโปรโมชั่น “ผ่อน 0%” อย่างเต็มที่ นั่นคือ ต้องชำระเต็มตามจำนวนที่บัตรเครดิตเรียกเก็บทุกครั้ง และที่นี้รู้ยังว่า บริษัทบัตรเครดิตทำกำไรได้อย่างไรจาก “โปรโมชั่นผ่อน 0%”  เป็นการพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาส สร้างแรงจูงใจให้ผู้บริโภคตัดสินใจควักกระเป๋าได้ง่ายขึ้น ขณะเดียวกันก็มีโอกาสทำกำไรจากการคิดดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียมจากการใช้บัตรเครดิต